ReadyPlanet.com


เทียนหู บำบัด ผ่อนคลาย ปลอดภัย จริงหรือ?


ปัจจุบันการบำบัดด้วย “เทียนหู” หรือ “สปาหู” กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากคนที่ใส่ใจสุขภาพ แต่เนื่องจากศาสตร์นี้เพิ่งเข้ามาในเมืองไทยได้ไม่นาน วิธีการทำก็ค่อนข้างแปลกใหม่ “X-RAY สุขภาพ” ในวันนี้ จึงขอนำเสนอข้อมูล ตลอดจนมุมมองจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์มาให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน

 

 เริ่มจากต้นกำเนิดของการบำบัดด้วยเทียนหู ดูเหมือนว่าหลายฝ่ายจะกล่าวอ้างที่มาแตกต่างกันพอสมควร บ้างก็ว่าเป็นศาสตร์ของอียิปต์เมื่อหลายพันปีก่อนคริสตกาล บ้างก็ว่าเป็นศาสตร์บำบัดเก่าแก่ ของชนเผ่าอินเดียนแดงบ้าง อินเดียบ้าง สปาบางแห่งก็ระบุว่า เป็นการนำศาสตร์จากจีนมาประยุกต์ใช้ ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าต้นกำเนิดที่แท้จริงของเทียนหูนั้นมาจากไหนกันแน่ เชื่อว่าเรื่องนี้คงมีการถกเถียงกันอีกนาน

 

ส่วนวัสดุที่ใช้ในการทำเทียนหู ในอดีตมีการระบุว่าทำมาจากใบยาสูบมวน หรือใบข้าวโพด แต่ปัจจุบันทำจากผ้าคอตตอน หรือผ้าลินิน ชุบด้วยขี้ผึ้ง หรือพาราฟิน นำมาพันเป็นแท่งทรงกระบอก ภายในกลวง หรือพันเกลียวทรงกรวย เพื่อให้เกิดความสะดวก ง่ายต่อการใช้ อาจผสมน้ำมันหอมระเหย สารสกัดสมุนไพร เพื่อให้มีกลิ่นหอม

 

ประโยชน์ของการบำบัดด้วยเทียนหู มีการกล่าวอ้างสารพัดว่า ช่วยให้ผู้บำบัดเกิดการผ่อนคลาย รู้สึกปลอดโปร่ง หายเครียด และยังเป็นการทำความสะอาด ขจัดขี้หู สิ่งสกปรกที่สะสมอยู่ภายในช่องหูให้ออกมาอย่างง่ายดายและปลอดภัย ขณะเดียวกันยังช่วยปรับสมดุลภายในช่องหู ทำให้การไหลเวียนของน้ำมูกที่เกิดจากโรคหวัดสะดวกขึ้น นอกจากนี้ผู้ที่มีปัญหาผิดปกติเกี่ยวกับระบบการฟัง เช่น ผู้ที่เจ็บ คัน หรือระคายเคืองหู ปวดหู ผู้ที่มีการไหลเวียนของต่อมน้ำเหลืองช้า ผู้ที่มีเสียงในหู ที่มีสาเหตุจากไข้หวัด ผู้ที่มีปริมาณขี้หูมาก มีอาการไซนัสอักเสบเรื้อรัง ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน

 

“เทียนหู 1 ห่อมี 2 อัน ใช้บำบัดหูข้างละอัน  เวลาที่ใช้รวมแล้วประมาณ 10-20 นาที แต่มิได้หมายความว่าจะทำได้ทุกราย เพราะการทำเทียนหูมีข้อห้ามเหมือนกัน เช่น ผู้ที่หูอักเสบ เป็นแผลติดเชื้อ เป็นหูน้ำหนวก มีของเหลวไหลออกมาจากหู แก้วหูทะลุ ฉีกขาด หรือเป็นแผล ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดภายในหูมาไม่ถึง 3 เดือน ผู้ที่เยื่อแก้วหูผิดปกติ และไม่ควรทำในเด็กต่ำกว่า 10 ขวบ เพราะเด็กไม่นิ่งอาจเป็นอันตรายได้

 

ผศ.ดร.ลดาวัลลิ์  อุ่นประเสริฐพงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า การทำเทียนหูเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย ที่ผ่านมามีโอกาสไปไต้หวันพบว่าริมถนนของที่นั่นมีการให้บริการในลักษณะนี้เต็มไปหมด ส่วนตัวลองใช้บริการมาแล้วคิดว่า การทำให้เกิดสุญญากาศดูดเอาขี้หูออกมา โดยไม่เกิดการระคายเคือง น่าจะดีกว่าการแคะหูด้วยวิธีการที่รุนแรง โดยการใช้กิ๊บ หรือใช้ไม้ หรือเหล็กแคะขี้หู เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุช่องหู ทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อได้ สำหรับคนที่มีขี้หูมาก จนเกิดการอุดตัน มีปัญหาการได้ยิน ก็อาจมีส่วนช่วยให้การได้ยินดีขึ้น ส่วนที่มีการกล่าวอ้างว่าสามารถบำบัดอาการต่าง ๆ นั้นก็ต้องมาดูว่ามีผลการวิจัยอะไรมารองรับหรือไม่

 

ศาสตร์ทุกอย่างมีทั้งบวกและลบ ทำบ่อย ทำนานเกินไปก็เกิดผลเสียได้ การแยงเทียนเข้าไปลึก ๆ ก็เช่นกัน อาจเป็นอันตรายต่อแก้วหู ดังนั้นคนทำจะต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี รู้ว่าควรแยงเข้าไปลึกมากน้อยแค่ไหน ส่วนคนที่คิดจะไปใช้บริการ ก็ควรดูว่า ผู้ให้บริการไว้ใจได้หรือไม่ ได้รับการฝึกฝนและเรียนรู้ขั้นตอนการทำแค่ไหน และที่ต้องระวัง คือ เรื่องไฟไหม้ผม โดยเฉพาะคนที่ฉีดสเปรย์ผม อาจทำให้ติดไฟได้ง่าย

 

รศ.พ.ญ.กฤษณา เลิศสุขประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชา โสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสต์ รพ.รามาธิบดี และนายกสมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อควรระวังในการทำเทียนหู คือ ต้องแน่ใจว่า ผู้ใช้บริการต้องไม่มีโรคที่ช่องหู เช่น หูอักเสบ เป็นแผลติดเชื้อ แก้วหูทะลุ เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อเป็นอันตรายได้ การจุดไฟเพื่อให้เกิดสุญญากาศเพื่อดึงเอาขี้หูหลุดออกมาดูเหมือนว่าเป็นวิธีการนุ่มนวล แต่ที่ห่วงคือถ้าระบบสุญญากาศที่ดูดแรงเกินไป อาจเป็นอันตรายได้เช่นกัน ดังนั้นคนทำควรได้รับการฝึกอบรมอย่างถูกต้องได้มาตรฐาน รู้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน และน่าจะมีความรู้เกี่ยวกับโรคบริเวณหูด้วย

 

ในทางการแพทย์เวลามีขี้หูเยอะมากจนเกิดการอุดตันช่องหู จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “แวคคิวอัมซัคชั่น” เป็นท่อเล็ก ๆ ไปดูดเอาขี้หูออกมา ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างระมัดระวังเช่นกัน ดังนั้น คนที่จะไปทำเทียนหู ควรศึกษาหาข้อมูลก่อน  เพราะหูเป็นอวัยวะที่มีเส้นประสาทเยอะ ต้องแน่ใจว่าช่องหูของตัวเองไม่เป็นโรคอะไร

 

อย่างไรก็ตามในทางการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า การทำเทียนหูเป็นอันตรายหรือเป็นประโยชน์ตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ เพราะยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้กันอย่างชัดเจน แต่ขี้หูเป็นธรรมชาติที่ร่างกายมนุษย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นด่านป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่อาจหลุดเข้าไปในช่องหู  หากมีมากเกินไปจะส่งผลให้การได้ยินเสียงลดลง ก็ต้องแคะออกบ้าง หากไม่สามารถแคะออกได้ก็ต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อไม่ให้ใช้วิธีที่ผิดในการแคะออกมา ถ้าคนที่ไม่มีขี้หูเลยไปทำเทียนหู ก็ต้องพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่

 

ด้าน น.พ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันมีศาสตร์ต่าง ๆ เข้ามาเมืองไทยเยอะมาก กรณีของเทียนหูเป็นเรื่องใหม่ มิใช่ว่าสปาทุกแห่งจะทำกัน ดังนั้นอะไรก็ตามที่มีลักษณะแปลกใหม่ มิใช่สิ่งที่เราทำกันอยู่เป็นประจำ  คงต้องเชิญผู้รู้มาพูดคุย ถ้าตรวจสอบแล้วเป็นวิธีการที่ไม่เป็นอันตราย ก็ส่งเสริมต่อไป แต่ถ้ามีปัญหาก็คงละเว้นไม่ได้ ดังนั้นต้องศึกษาข้อเท็จจริงก่อน ส่วนที่มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถบำบัดรักษาโรคหรืออาการต่าง ๆ ก็ต้องมาดูว่า ทำได้จริงหรือไม่ หรือว่าเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง.

 

 

ที่มา

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2548

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต



Post by Admin :: Date 2006-01-07 09:07:05 IP : 203.144.158.237


[1]

Opinion No. 1 (615735)

อยากทราบวิธีการนวดก่อนทำสปาหูค่ะ

By คุณ2 Date 2006-09-13 11:06:01 IP : 58.147.122.243



[1]


Opinion
Opinion *
By  *
E-Mail 
Don't Display E-mail



Copyright © 2010 All Rights Reserved.