อานุภาพของกลิ่นต่อร่างกาย
กระบวนการทำงานของกลิ่นเริ่มจาก เมื่อน้ำมันหอมระเหยเข้าสู่ร่างกาย โดยวิธีการรับประทาน หรือซึมเข้าทางผิวหนัง หรือเข้าทางทวารและช่องคลอด โมเลกุลของสารจะสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ไปมีผลต่ออวัยวะต่างๆ และถูกขับออกไปได้เช่นเดียวกับโมเลกุลของยา
แต่ถ้าให้โดยการสูดดม โมเลกุลจะผ่านเข้าทางเยื่อบุช่องจมูกสู่ปอด และเข้าสู่กระแสเลือด ขณะเดียวกันโมเลกุลที่ถูกสูดดม จะไปจับกับตัวรับบนเยื่อช่องจมูก และแปรเป็นสัญญาณไฟฟ้าเคมี ผ่านทางระบบเส้นประสาท เข้าสู่ระบบลิมบิคในสมองซึ่งควบคุมความรู้สึก อารมณ์ และระบบย่อยอาหาร จึงมีผลกระตุ้นหรือระงับประสาทและสมอง รวมทั้งระบบต่อมไร้ท่อต่างๆ
และจากผลการวิจัยทางการแพทย์พบว่า โครงสร้างทางโมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยซึ่งเป็น Aromatic Compounds มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคได้เช่นกัน
แต่การใช้กลิ่นหอมเพื่อการรักษาโรคนั้นยังมีตัวแปรอื่นๆด้วย เช่น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และการตอบสนองของกลิ่นในแต่ละบุคคลอีกด้วย
ป่วยกาย…บำบัดได้ด้วยกลิ่นหอม
กลิ่นหอมช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยทางกายในระบบต่างๆได้ ดังนี้
- ระบบการไหลเวียนโลหิต กระตุ้นการหมุนเวียนโลหิต ทำให้หัวใจและสมองทำงานได้ดี ร่างกายกำจัดของเสียออกทางไตได้มากขึ้น นิยมใช้สูดดม น้ำมันหอมระเหยที่แนะนำ เช่น น้ำมันจากหญ้าแฝก น้ำมันกุหลาบ
- ระบบต่อมน้ำเหลือง กระตุ้นการทำงานของต่อมน้ำเหลือง ช่วยเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น นิยมใช้สูดดม น้ำมันหอมระเหยที่แนะนำ เช่น น้ำมันจากผิวมะนาว น้ำมันไทม์
- ระบบประสาท ช่วยกระตุ้นความทรงจำ กระตุ้นหรือระงับประสาท ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย นิยมใช้สูดดม น้ำมันหอมระเหยที่แนะนำ เช่น น้ำมันมะกรูด น้ำมันลาเวนเดอร์
- ระบบต่อมไร้ท่อ ช่วยให้การทำงานของต่อมไร้ท่อเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งทำให้การผลิตฮอร์โมนบางชนิดที่ควบคุมการหลั่งไขมันให้ผิวหนังชุ่มชื้น จึงนิยมนำมาใช้ในการเสริมความงามและถนอมผิว ใช้ได้ทั้งนวดและสูดดม น้ำมันหอมระเหยที่แนะนำ เช่น น้ำมันกระดังงา น้ำมันดอกเจอราเนี่ยม
- ระบบกล้ามเนื้อ ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงให้ลดความเมื่อยล้าลง โดยนิยมใช้ในการนวดตามร่างกายส่วนที่ปวด น้ำมันหอมระเหยที่แนะนำ เช่น น้ำมันขิง น้ำมันพริกไทยดำ น้ำมันโรสแมรี่
- ระบบย่อยอาหาร ช่วยลดแก๊ส ผ่อนคลายกล้ามเนื้อเรียบในกระเพาะอาหาร นิยมใช้นวดบริเวณหน้าท้อง น้ำมันหอมระเหยที่แนะนำ เช่น น้ำมันสะระแหน่ น้ำมันผักชี และน้ำมันจูนิเปอร์
- ระบบหายใจ ช่วยป้องกันการเกร็งของหลอดลม ช่วยขับเสมะ ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส นิยมใช้สูดดม น้ำมันหอมระเหยที่แนะนำ เช่น น้ำมันยูคาลิปตัส น้ำมันต้นทีทรี
- ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ช่วยบำบัดอาการผิดปรกติของฮอร์โมน นิยมใช้สูดดม น้ำมันหอมระเหยที่แนะนำ เช่น น้ำมันกุหลาบ น้ำมันดอกคาโมมายล์
- ระบบกระดูก ช่วยสมานหรือสร้างกระดูกที่หักหรืออักเสบตามข้อต่างๆ ใช้ทาตามจุดที่บาดเจ็บ น้ำมันหอมระเหยที่แนะนำ เช่น น้ำมันขิง น้ำมันพริกไทยดำ น้ำมันดอกคาโมมายล์
ใจหายป่วย ด้วยกลิ่นหอม
แม้จะพอทราบว่ามีน้ำมันหอมชนิดใดช่วยในการผ่อนคลายหรือลดความกังวล แต่ประสาทการรับกลิ่นซึ่งเป็นความชอบ ถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงในแต่ละคน จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และค่อยๆปรับใช้ไปทีละน้อย
ขณะนี้ได้มีการกำหนดการใช้น้ำมันหอมระเหยโดยแยกเป็นกลุ่ม แบ่งไปตามอาการทางจิตประเภทต่างๆ โดยใช้ผสมในน้ำอาบ ฉีดพ่นในอากาศเพื่อสูดดม นวดเข้าทางผิวหนัง ให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายจากอาการต่างๆ เช่น
- โกรธ ใช้น้ำมันกระดังงา น้ำมันคาโมมายล์
- กังวล ใช้น้ำมันมะกรูด น้ำมันผิวมะนาว น้ำมันหอมจากต้นสน
- เก็บกด ใช้น้ำมันลาเวนเดอร์ น้ำมันกุหลาบ น้ำมันโรสแมรี่
- ความจำเสื่อม ใช้น้ำมันขิง น้ำมันเบซิล
- จิตอ่อนล้า ใช้น้ำมันขิง น้ำมันสะระแหน่ น้ำมันโรสแมรี่
- ประสาทตึงเครียด ใช้น้ำมันลาเวนเดอร์ น้ำมันกระดังงา น้ำมันผิวส้ม
- หงุดหงิด ใช้น้ำมันผิวส้ม น้ำมันผิวมะนาว
- เศร้าเสียใจ ใช้น้ำมันดอกมะลิ น้ำมันกุหลาบ
กลิ่นบำบัด ตำรับแพทย์แผนไทย
ขณะนี้ในโรงพยาบาลหลายแห่งมีการนำการแพทย์แผนไทยเข้าไปให้บริการแก่ประชาชน เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาสุขภาพ และที่โรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสาครเองก็เป็นอีกโรงพยาบาลหนึ่งที่มีการนำกลิ่นหอมของสมุนไพรไทยมาใช้ โดยใช้ผสมผสานไปกับการรักษาแบบแพทย์แผนไทยอื่นๆ เช่น การรักษาตามธาตุเจ้าเรือน การใช้ยาแผนไทย การนวด อบตัว การประคบร้อน
ส่วนใหญ่พบว่า ผู้ป่วยเหล่านี้มักมีอาการเครียดจากการพักรักษาตัวนานๆ ประกอบกับกล้ามเนื้ออ่อนแรง การนวดประคบตัวสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมจึงช่วยสร้างความผ่อนคลายให้ได้มาก ทำให้มีผลตอบสนองในการรักษาที่ดีขึ้น
ในอนาคต ทางโรงพยาบาลยังมีแนวโน้มที่จะนำการใช้สมุนไพรที่มีกลิ่นหอมไปช่วยบำบัดอาการของผู้ป่วยจิตเวทที่มีอาการซึมเศร้า ให้เกิดความผ่อนคลายได้มากขึ้น
หยิบสมุนไพรในครัว มาทำกลิ่นบำบัด
กลิ่นนอกจากจะช่วยให้สบายกายสบายใจแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในเรื่องความสวยความงาม เช่นทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งขึ้น หรือทำให้ผมนุ่มสลวยได้ด้วย
หอมสดชื่นที่เรือนผม : นำผลมะกรูดสดมาอังไฟในเตาถ่านหรือต้มให้นิ่ม คั้นเอาแต่น้ำ กรองเอากากออก นำมาสระผมได้ทุกวัน ช่วยให้ผมดำเงางาม ลดอาการคัน รังแค ผมร่วง ชันนะตุ
หอมเย็นดื่มชื่นใจ : บำรุงหัวใจง่ายๆด้วยการนำดอกมะลิแห้งสัก 5 ดอก (1.5 – 3 กรัม) มาชงหรือต้มในน้ำหนึ่งแก้วดื่ม ขอแนะนำว่ามะลิที่จะนำมาชงดื่มควรเป็นมะลิที่ปลูกเองในบ้าน โดยไม่ฉีดพ่นสารฆ่าแมลงเพื่อป้องกันสารพิษตกค้างค่ะ
หอมโล่งจมูก :
1. บรรเทาหวัดสำหรับเด็กเล็ก ให้นำหอมแดงมาทุบสัก 4-5 หัว ใส่ห่อผ้า นำไปวางไว้ที่หัวนอนขณะเด็กหลับ
2. บรรเทาหวัดสำหรับเด็กโต ใช้ตะไคร้ 4-5 ต้น มัดเป็นกำสั้นๆกับหอมแดง 3-4 หัว ทุบพอแหลก นำไปต้มในหม้อใหญ่ๆ พอเดือดจึงยกลง แล้วใช้ผ้าห่มคลุมตัวเด็กไว้กับหม้อ ค่อยๆเปิดฝาหม้อทีละน้อยให้ไอน้ำสมุนไพรในหม้อรมตัวเด็ก เมื่อรมเสร็จแล้วให้เอาศีรษะโผล่ออกมานอกผ้าห่ม รอจนตัวหายร้อนแล้วจึงยกผ้าห่มออกได้
3.บรรเทาหวัดสำหรับผู้ใหญ่ ใช้สมุนไพร 6 ชนิด มี ว่านน้ำ หอมแดง ตะไคร้ ใบมะขาม ส้มป่อย และผิวมะกรูด นำสมุนไพรมาตำพอแตก เติมพิมเสนลงไปหนึ่งในสี่ของหม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่เตรียมไว้ เติมน้ำราวสามในสี่ ปิดฝาเสียบปลั๊กต้มจนเดือด พอเดือดนำไปต้มต่อในกระโจมที่มีผู้ป่วยอยู่ อบไว้ราว 15-20 นาที ค่อยๆเปิดฝาหม้อให้ไอน้ำลอยออกมาช้าๆ กระโจมนี้สามารถดัดแปลงได้จากร่มและผ้าปูที่นอน โดยแขวนร่มไว้ให้สูงพอควร แล้วใช้ผ้าปูที่นอนคลุมให้รอบ เปิดเป็นช่องให้ระบายอากาศได้บ้างเล็กน้อย
หอมไล่แมลงและสร้างกลิ่นสดชื่น : ใช้ตะไคร้หอมทุบสัก 4-5 ต้น มาวางในห้อง กลิ่นน้ำหอมระเหยจะไล่ยุงให้หนีหายไป นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ที่อยู่ในห้องหายใจได้โล่งจมูกขึ้นด้วย
หอมไกลไล่กลิ่นอับ : ทำบุหงาไว้แขวนไล่กลิ่นอับ โดยเลือกกุหลาบ มะลิ พิกุล กระดังงา ใบเตย แกะกลีบหรือหั่นเป็นริ้วตากแห้งอย่างละ 1 ถ้วย ผสมรวมกันในโถ ใส่พิมเสน 1/4 ช้อนชา ผสมรวมกัน ใส่น้ำปรุง 2 ช้อนชา คลุกเบาๆพอเข้ากัน แล้วจุดเทียนอบไว้ประมาณ 20 นาที จากนั้นนำบุหงาที่ได้บรรจุในถุงผ้าโปร่งนำไปแขวนไว้ในตู้เสื้อผ้า หรือจะแขวนไว้ในรถยนต์ก็ไม่เลว
เรื่องโดย: ชีวจิต